มาตรฐาน "สีของสายไฟ" สัญลักษณ์ตัวนำที่ควรจะต้องรู้!

สีของสายไฟตามมาตรฐานไทยและสากล

เรื่องควรรู้! ข้อกำหนดและมาตรฐานเกี่ยวกับสีของสายไฟฟ้า

เพิ่มความปลอดภัยทุกครั้งที่ติดตั้งระบบไฟฟ้าได้ง่าย ๆ เพียงเข้าใจมาตรฐานสีของสายไฟ สัญลักษณ์ตัวนำที่มาในรูปแบบสีและตัวอักษร ซึ่งบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการใช้งานตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2564 ที่ออกโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และตามมาตรฐาน IEC 60445 ติดตามทุกเนื้อหาที่ควรรู้ได้ในบทความนี้

สัญลักษณ์สายไฟและสีตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ

สำหรับมาตรฐานสีของสายไฟ ถือแนวทางปฏิบัติที่ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้กำหนดเอาไว้ให้ตัวนำไฟฟ้ามีสีหรือตัวอักษร เป็นสัญลักษณ์สายไฟระบุประเภทและฟังก์ชันของตัวนำนั้น ๆ ซึ่งการกำหนดนี้ถูกระบุเอาไว้ในมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ฉบับปี พ.ศ. 2564 เพื่อให้ช่างไฟฟ้าและผู้ใช้สามารถระบุได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • สีเขียวแถบเหลือง= สายดิน
  • สีฟ้า = สายนิวทรัล
  • สีน้ำตาล = สายเฟส L1
  • สีดำ = สายเฟส L2
  • สีเทา = สายเฟส L3

วิธีการระบุสัญลักษณ์ตัวนำสายไฟ

  • สายไฟฟ้าแกนเดียว
    สำหรับสายไฟแกนเดียว โดยเฉพาะสาย 60227 IEC 01 (THW) ที่ใช้ติดตั้งเดินในบ้านและอาคารโดยทั่วไป โดยขนาดไม่เกิน 16 ตร.มม. จะมีให้เลือกอยู่หลากหลายสี การเลือกใช้จึงต้องอ้างอิงตามข้อกำหนดของมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ ในขณะเดียวกันหากจำเป็นที่จะต้องใช้สายแกนเดียวที่ขนาดใหญ่กว่า 16 ตร.มม. ที่มีแต่สายสีดำ จะต้องสังเกตจากสัญลักษณ์สายไฟอย่างเครื่องหมายสี รวมไปถึงตัวอักษรที่ระบุเอาไว้บริเวณจุดต่อสายและปลายสายให้ถูกต้องตามข้อกำหนด
  • สายไฟฟ้าหลายแกน
    สำหรับสายไฟฟ้าหลายแกน ผู้ผลิตจะมีสีฉนวนเป็นไปตามมาตรฐานอ้างอิงในการผลิตอยู่แล้ว หากเลือกซื้อกับยี่ห้อที่ได้มาตรฐานก็สามารถไว้วางใจได้ทุกการใช้งาน แต่สำหรับคนที่ไม่มั่นใจว่าจะต้องเลือกใช้อย่างไร ก็ให้สังเกตข้อควรระวัง ดังนี้
  • สายไฟ 3 แกน
    • แบบที่หนึ่ง ฉนวนน้ำตาล สีฟ้า และสีเขียวแถบเหลือง สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 1 เฟสที่มีสายดิน
    • แบบที่สอง ฉนวนสีน้ำตาล สีดำ และสีเทา สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟสที่ไม่มีทั้งสายนิวทรัลและสายดิน
  • สายไฟ 4 แกน
    • แบบที่หนึ่ง ฉนวนสีน้ำตาล สีดำ สีเทา และสีเขียวแถบเหลือง สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟสที่มีสายดิน แต่ไม่มีสายนิวทรัล
    • แบบที่สอง ฉนวน สีน้ำตาล สีดำ สีเทา และสีฟ้า สำหรับใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟสที่มีสายนิวทรัลแต่ไม่มีสายดิน

ทั้งนี้การเลือกใช้สายไฟฟ้าหลายแกน ควรจะศึกษาเกี่ยวกับสัญลักษณ์สายไฟอย่างสีและตัวอักษรให้มั่นใจ ทั้งตามข้อกำหนดมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ ของวสท. และข้อกำหนดมาตรฐาน IEC 60445 เพื่อให้สามารถเข้าใจและแยกแยะตัวนำสายไฟได้อย่างเหมาะสม มั่นใจในความปลอดภัยได้ทุกครั้งที่ต้องทำการแก้ไขหรือต่อเติมระบบไฟฟ้าภายหลัง

ความแตกต่างระหว่างมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ และมาตรฐาน IEC 60445

ข้อแตกต่างของสัญลักษณ์สายไฟระหว่างไทยและสากล

  1. การอนุโลมให้ใช้สัญลักษณ์ตัวนำสีของสายดิน 
    • การอนุโลมให้ใช้สัญลักษณ์ตัวนำสีของสายดิน  สำหรับการอนุโลมให้ใช้สัญลักษณ์สายไฟที่เป็นสีแสดงตัวนำของสายดิน ทางข้อกำหนดมาตรฐานไทยสามารถอนุโลมให้ใช้สีเขียว ในกรณีที่เป็นสายไฟฟ้าแกนเดียวได้ แต่ในมาตรฐาน IEC จะกำหนดให้ต้องใช้สีเขียวและเหลืองรวมกันในเส้นเดียว และไม่ให้ใช้สีใดสีนึงร่วมกันกับสีอื่น เพื่อป้องกันการสับสันในการแยกแยะตัวนำ
  2. การกำหนดสีของสายนิวทรัล
    • สำหรับการกำหนดสีของสายไฟนิวทรัล ตามมาตรฐาน IEC จะกำหนดด้วยคำอังกฤษว่า Blue ที่ให้ความหมายครอบคลุมทั้งสีน้ำเงินและสีฟ้าในภาษาไทย โดยมาตรฐาน IEC จะแนะนำให้ใช้สีฟ้า (Unsaturated colour blue หรือ Light blue) เพื่อป้องกันการสับสนกับสีอื่น ๆ ในทางกลับกันตามข้อกำหนดมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของไทย จะกำหนดให้ใช้สีฟ้าสำหรับสายนิวทรัลเท่านั้น
  3. ข้อกำหนดการใช้สีเขียวและเหลืองในสายไฟ
    • ด้านข้อกำหนดการใช้สีของสายไฟอย่าง “สีเขียว” และ “สีเหลือง” นั้น ตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ ได้กำหนดให้เป็นสีเขียวแถบเหลือง ซึ่งตีความได้ว่าพื้นที่ผิวส่วนที่เป็นสีเขียวจะมีมากกว่า และสีเหลืองจะเป็นส่วนเส้นแถบ แต่ในมาตรฐาน IEC ไม่ได้มีการเจาะจงลงไปว่าต้องใช้สีอะไรเป็นแถบหรือเป็นพื้น แต่กำหนดโดยให้พื้นที่ผิวของสีใดสีหนึ่งอยู่ระหว่าง 30% - 70% และพื้นที่ผิวที่เหลือเป็นอีกสีหนึ่ง หรืออาจใช้เป็นสีเขียวและสีเหลืองที่มีพื้นที่เท่า ๆ กันสีละ 50% ก็ได้
  4. การกำหนดสีของตัวนำเส้นไฟในระบบไฟฟ้า 3 เฟส
    • ปิดท้ายกันที่การกำหนดสีตัวนำเส้นไฟในระบบไฟฟ้า 3 เฟส โดยทางมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าฯ ได้กำหนดให้เฟส 1 ใช้สีน้ำตาล เฟส 2 ใช้สีดำ และเฟส 3 ใช้สีเทา แต่ในมาตรฐาน IEC จะระบุว่าให้ใช้สีดำ สีน้ำตาล และสีเทา โดยไม่ได้กำหนดเจาะจงลงไปว่าต้องใช้สีใดสำหรับเฟสใด หรือมีการเรียงลำดับอย่างไร ดังนั้น หากเลือกสายไฟสำหรับใช้งาน ให้สังเกตที่มาตรฐานรองรับเป็นอันดับแรก เพื่อใช้อ้างอิงในการดูสีฉนวนสายไฟนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าต่างมาตรฐานก็ต่างข้อกำหนด ทำให้การศึกษาข้อกำหนดด้านสัญลักษณ์สายไฟเอาไว้จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญในการเลือกซื้อ และสำหรับใครที่กำลังมองหาสายไฟที่ตรงตามมาตรฐานไทยและสากลอยู่ ก็สามารถเลือกได้เลยที่ STS Thonburi บริษัทขายส่งสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และเป็นตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์ชั้นนำมากมาย เช่น สายไฟ Thai Union สายไฟ Fuhrer สายไฟ PKS และอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมบริการจัดส่งให้ทั่วประเทศ

Line: @sts7744 (มี@)
เพิ่มเพื่อน

 

ข้อมูลอ้างอิง

1. ช่างไฟมือใหม่ควรรู้ มาตรฐานสีของสายไฟฟ้า รู้ก่อนเลือกใช้. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 จาก https://www.bangkokcable.com/th/knowledge/detail-27 


2. มาตรฐานสายไฟใหม่ มอก.11-2553. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 จาก https://www.pjr-electric.com/content/5188/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%8111-2553 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้